/*----Yahoo site map-------*/ /*----Bing site map-------*/

ค้นหาอะไรก็เจอ

วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

10 ภูเขาไฟ อันตรายที่สุดในสากลโลก

FHM Thailand ขอแนะนำภูเขาไฟสุดอันตราย ที่ทำให้แผ่นดินต้องวอดแผ่นฟ้าต้องวาย ที่สำคัญ ภูเขาไฟเหล่านี้ยังคงมีพลัง และกำลังนับรอวันปะทุ! 

Words : วนาทิพย์ กิรานุชิตพงศ์

ภูเขาไฟมีพลัง (Active Volcano) คือภูเขาไฟที่มีประวัติระเบิดค่อนข้างถี่ย้อนไปไม่เกิน 10,000 ปี และอาจมีการระเบิดซ้ำ ซึ่งทั่วโลกมีมากกว่า 1,000 ลูก แต่ลูกที่อันตรายที่สุด เรานำมาให้คุณได้รู้จักที่นี่แล้ว


 
10. Mauna Loa Volcano
สถานที่ : ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
ปะทุครั้งล่าสุด : 24 มีนาคม – 15 เมษายน 1984
เมานาโลอา มาจากภาษาฮาวายแปลว่า “Long Mountain” มีเนื้อที่กว่า 5,180 ตารางกิโลเมตร สูงถึง 4,170 เมตร มีอายุอย่างน้อย 700,000 ปี ระเบิดมาแล้วทั้งสิ้น 33 ครั้ง อยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัยของประชากร อีกทั้งภูเขามีรูปร่างเหมือนโล่ และลาวามีความหนืดต่ำ ถึงแม้ว่าแรงระเบิดในบางครั้งจะไม่รุนแรงถึงขั้นเต็มแม็กก็เถอะ แต่มันก็ทำให้เกิดไฟไหม้ และลามไปเผาบ้านของประชากรที่อยู่แถวนั้นๆ ให้วอดวายได้เป็นแถบๆ เหมือนกัน


 

9. Taal Volcano
สถานที่ : เกาะลูซอน ฟิลิปปินส์
ปะทุครั้งล่าสุด : ปี 2013

ภูเขาไฟตาอัล เป็นแอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด ตั้งอยู่กลางทะเลสาบตาอัล ห่างจากกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์เพียงแค่ 50 กิโลเมตรเท่านั้น ภูเขาไฟตาอัลระเบิดมาแล้วกว่า 30 ครั้ง และเมื่อปี 2001 มีสัญญาณการปะทุ เกิดการสั่นสะเทือน น้ำในปล่องเดือดปุดๆ พร้อมกับแม็กม่าที่เกือบจะพุ่งขึ้นมา ตามด้วยก๊าซคาร์บอน จนรัฐบาลต้องประกาศให้ประชาชนที่อาศัยอยู่แถบนั้นราวๆ 7,000 คน ให้รีบอพยพโดยด่วน แต่หากมีประชาชนเพียงแค่ 200 คน เท่านั้นที่ตื่นตัว ส่วนที่เหลือนอกนั้นนอนแคะขี้มูกสบายใจเฉิบ ซึ่งไม่รู้ว่า ถ้ามันเกิดระเบิดขึ้นมาจริงๆ ขึ้นมาแล้ว 6,800 คนที่เหลือเขาจะหนีทันหรือเปล่านะเนี่ย ล่าสุดปี 2013 มีรายงานว่ามีการสั่นสะเทือนถี่ขึ้น แต่ยังไม่มีสัญญาณใดที่จะบอก ว่าภูเขาไฟตาอัลจะเกิดระเบิดขึ้นในเร็วๆ นี้


 

8. Ulawun Volcano
สถานที่ : ปาปัวนิวกินี
ปะทุครั้งล่าสุด : 2013

ภูเขาไฟ Ulawun ตั้งอยู่บนเกาะนิวบริเทน ปาปัวนิวกินี มีความสูง 2,344 เมตร มีบันทึกการปะทุ 22 ครั้ง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เกิดการระเบิดลูกย่อมๆ อยู่บ่อยครั้ง และปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาประมาณ 7 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็น 2% ของก๊าซที่ปล่อยออกมาทั้งหมดทั่วโลก โดยที่ก๊าซตัวนี้ถ้ามีปริมาณเข้มข้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พืชและสัตว์ล้มป่วย ฝนที่ตกลงมามีความเป็นกรดสูง และก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ทางเดินระบบหายใจ โรคปอด หลอดลมอักเสบ และถ้าสารนี้เข้มข้นมากถึงมากที่สุด ก็อาจเสียชีวิตเพียงแค่ ซู้ดดด! เข้าไป


 

7. Mount Nyiragongo
สถานที่ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ปะทุครั้งล่าสุด : 2013

ภูเขาไฟเนียรากองโก หนึ่งในแปดภูเขาไฟในเทือกเขาวิรุงกา (Virunga Mountains) ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติวิรุงรังกา ห่างจากเมือง Goma ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกไปเพียง 20 กิโลเมตร มีฉายาว่าทะเลสาบลาวา (Lava Lake) เพราะมีลักษณะเป็นภูเขาชัน ตรงกลางมีแอ่งขนาดใหญ่คล้ายทะเลสาบ โดยเริ่มระเบิดตั้งแต่ปี 1882 ซึ่งระเบิดมาแล้ว 34 ครั้ง ครั้งที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2002 ลาวาเดือดๆ ไหลทะลักเข้าหลอมเมืองกว่า 40% ของพื้นที่ ประชาการ 120,000 คน กลายเป็นคนไร้บ้าน อีก 500,000 คน ต้องอพยพกันจ้าละหวั่น นับตั้งแต่ครั้งนั้นภูเขาไฟเนียรากองโกยังคงมีสัญญาณการปะทุเรื่อยมาจนถึง ทุกวันนี้


 

6. Mount Merapi
สถานที่ : อินโดนีเซีย
ปะทุครั้งล่าสุด : มีนาคม – เมษายน 2014

ภูเขาไฟเมราปี เป็นภูเขาไฟรูปกรวยตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่าง Java และ Yogyakarta ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริเวณตีนภูเขานั้นยังมีประชาชนอาศัยอยู่หลายพันคน ภูเขาไฟเมราปีเริ่มปะทุครั้งแรกเมื่อปี 1548 และยังคงปะทุเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นภูเขาไฟที่ผลิตสาร Pyroclastic มากที่สุดในโลก ซึ่งสารตัวนี้ประกอบไปด้วยขี้เถ้าร้อน ก๊าซพิษ และเศษหิน และที่สำคัญ อันตรายกว่าการไหลของลาวาเยอะ


 

5. Galeras
สถานที่ : โคลัมเบีย

ปะทุครั้งล่าสุด : 2010
ภูเขาไฟกาเลรัส มีอายุ 1 ล้านปี เป็นอย่างน้อย การระเบิดครั้งแรกถูกบันทึกไว้ในวันที่ 7 ธันวาคม 1580 ภูเขาไฟ Galeras ตั้งอยู่ในภาคใต้ของโคลัมเบียใกล้กับชายแดนเอกวาดอร์ มีความสูง 4,276 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล นอกจากนั้นยังอยู่ใกล้กับเมือง Pasto ที่มีประชากรอาศัยอยู่บนเนินทางทิศตะวันออกของ ภูเขาไฟ Galeras ประมาณ 450,000 คน โดยความอันตรายของภูเขานี้คือการระเบิดแบบไม่คาดคิด คำนวณรอบในการระเบิดไม่ค่อยจะได้ การระเบิดในปี 2010 ต้องอพยพประชากรที่เสี่ยงต่อการระเบิดถึง 8,000 คน แต่ชาวบ้านแถวนั้นปฏิเสธที่จะอพยพ เพราะบอกว่าของแบบนี้มันเคยๆ กันอยู่ เจอกันจนชินละ


 

4. Sakurajima
สถานที่ : ญี่ปุ่น
ปะทุครั้งล่าสุด : 2013

ถึงแม้จะดังไม่เท่าภูเขาไฟฟูจิ แต่ภูเขาไฟซากุระจิมะก็ขึ้นชื่อว่าเป็นภูเขาอันตรายเลยทีเดียว ภูเขาไฟซากุระจิมะตั้งอยู่บนเกาะคิวชู มีความสูงอยูที่ 1,117 เมตร ซึ่งการประทุในแต่ละครั้งจะพ่นเถ้าถ่านขึ้นมาหลายกิโลเมตร เป็นอันตรายต่อประชาชนที่อยู่อย่างหนาแน่นรอบเมืองคาโกชิมะ ที่อยู่ห่างจากภูเขาไฟซากุระจิมะไปไม่ถึงกิโลเมตร การปะทุครั้งล่าสุดคือเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2013 เกิดการปะทุขึ้นอย่างรุนแรงเถ้าถ่านภูเขาไฟลอยสูงขึ้นไปในอากาศกว่า 5,000 เมตร มีหินภูเขาไฟกระเด็นกระดอนมาไกลกว่า 1,800 เมตร  ลาวาทะลักออกมาเป็นทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่น รายงานว่าเป็นการพ่นเถ้าถ่านที่สูงที่สุดทลายสถิติที่นับกันมาตั้งแต่ปี 1955 ทำให้ชาวเมืองต้องรีบหาหน้ากากมาป้องกันกันให้ว่อง เพราะควันจากภูเขาไฟหนาแน่น เสมือนเมืองทั้งเมืองกำลังถูกรมควันอยู่อย่างไงอย่างงั้นแหละ


 

3. Popocatépetl
สถานที่ : เม็กซิโก
ปะทุครั้งล่าสุด : 2005 to 2014

เป็นภูเขาขนาดใหญ่ปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง ซึ่งมีความสูงถึง 5,426 เมตร อยู่ห่างจากเมืองหลวงไปทางทิศตะวันออกเพียงแค่ 40 กิโลเมตร และยิ่งทวีความอันตรายเข้าไปอีกเมื่อเมืองนั้นมีประชากรอาศัยยัดเยียดกว่า 9 ล้านคน แม่เจ้า! จะแน่นไปมั้ย... โดยการระเบิดครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2000 แต่โชคดีที่นักวิทยาศาสตร์สามารถเตือนรัฐบาลให้อพยพประชาชนจำนวน 41,000 คน ที่อยู่ในรัศมีการระเบิดให้โกยหน้าตั้งกันได้สำเร็จ


 

2. Mount Vesuvius
สถานที่ : อิตาลี
ปะทุครั้งล่าสุด : 1944

ภูเขาไฟวิสุเวียส ตั้งอยู่ในอ่าวเมเปิลส์ ประเทศอิตาลี ห่างจากฝั่งซึ่งเป็นที่พักอาศัยของประชาชนเพียง 9 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยแน่นเอี๊ยดถึง 3,000,000 คน การระเบิดครั้งใหญ่สุดคือเมื่อปี ค.ศ. 94 แรงระเบิดที่รุนแรงทำให้เมืองปอมเปอีทั้งเมืองล่มสลายจากเมืองแห่งความ ศิวิไลซ์ กลายเป็นซากปรักหักพังไปในบัดดล และการระเบิดในวันที่ 18 มีนาคม 1944 มีควันเถ้าถ่านภูเขาไฟพุ่งทะยานสู่ท้องฟ้าสูงถึง 1,000 เมตร ภูเขาไฟวิสุเวียสจะมีการระเบิดครบรอบทุกๆ 20 ปี นับว่ายังโชคดีที่ที่ปีผ่านมายังไม่มีการระเบิด แต่ก็ไม่อยากจะคิดว่าถ้ามันเกิดระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ประชากรมหาศาล 3,000,000 คนนั้น มันจะหนีกันยังไงว้า


 

1. Yellowstone Caldera
สถานที่ : สหรัฐอเมริกา
ปะทุครั้งล่าสุด : 600,000 ปี ก่อน

เยลโลว์สโตน คาลเดอรา ถูกยกให้เป็นซูเปอร์ภูเขาไฟ เพราะมันทั้งใหญ่และอันตรายที่สุดถึงที่สุดในโลก โดยตั้งตระหง่านอยู่ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน อายุอานามปาเข้าไป 600,000 ปี ซึ่งถ้าพี่เบิ้มลูกนี้เกิดเดือดขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ระยะเวลาที่พี่แกสะสมไว้ถึง 600,000 ปี นั้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 2 ใน 3 ของสหรัฐฯ นอกจากนั้นการระเบิดของ Yellowstone Caldera จะเป็นตัวกระตุ้นให้ระเบิดภูเขาไฟอื่นระเบิดตูมต้ามตามมา นักวิทยาศาสตร์จึงต้องเฝ้าระวังพี่เบิ้มลูกนี้ไว้ไม่ให้คลาดสายตาเลยทีเดียว
ทั้งหมดคือภูเขาไฟที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ที่มนุษย์ไม่อาจต้านทาน เราจึงต้องปรับตัวและเฝ้าระวังอยู่ทุกฝีก้าวอยู่เสมอ

ข้อมูลอ้างอิง :
th-wikipedia
en-wikipedia
marumura.com/news/?id=4226
oknation.net/blog/ravio/2013/01/28/entry-1
wowboom.blogspot.com/2011/03/nyiragongo.html
manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000078104
runamartino.blogspot.com/2011/06/yellowstone-national-park.html
smashinglists.com/10-most-dangerous-active-volcanoes-on-earth/
Photo Credits :
Wikipedia
world.kapook.com

ที่มาจาก: http://www.fhm.in.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยพิบัติ

รายงานแผ่นดินไหวทั่วโลก




รายงานแผ่นดินไหวภายในประเทศและใกล้เคียง