/*----Yahoo site map-------*/ /*----Bing site map-------*/

ค้นหาอะไรก็เจอ

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เจาะลึกภัยพิบัติ โลกาจะวินาศจริงหรือ??

ภัยพิบัติโลก


ตั้งแต่เริ่มต้นย่างกรายเข้าสู่ขวบปีศักราช 2553 หรือ ค.ศ.2010 เป็นต้นมา จะพบได้ว่า หลากหลายผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งจากทวีปยุโรป อเมริกา แอฟริกา เอเชีย ฯลฯ ไล่ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักวิชาการ แม้กระทั่งคนในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด ต่างให้ความสำคัญ และตระหนักกับกระแสภัยพิบัติ ที่จะอุบัติขึ้นในดาวเคราะห์ ของระบบสุริยะจักรวาล ที่มวลมนุษย์ชาติยึดถือเป็นที่พำนักอาศัย และเรียกกันอย่างกว้างขวางว่า “โลก” เนื่องจากมีการวิเคราะห์ตลอดจนวิพากษ์ ด้วยองค์ความรู้และหลักของเหตุผลที่ยกขึ้นมาประกอบว่า อนาคตวันหนึ่งโลกจะถึงกาลอวสาน โลกกำลังจะแตก ที่สำคัญทวีปต่างๆที่เคยถูกบรรจุอยู่ในแผนที่ อาจไม่มีอีกแล้วในอนาคต

หลังความวิตกดังกล่าว ปรากฏให้เกิดกระแสการตื่นตัวเริ่มกลับมาให้ความใส่ใจในการปกปักรักษา อีกทั้งรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาโลกแตกนี้กระจายทั่วโลก ด้วยเหตุผลหลักคือ ไม่ต้องการให้ความวิตกนี้เกิดขึ้นจริง มีการหยิบยกจินตนาการนำเอาไปทำภาพยนตร์บนแผ่นฟิล์ม “ 2012 วันสิ้นโลก” จำลองเหตุการณ์โลกแตก สร้างความบันเทิง โดยอิงไว้ด้วยเจตคติที่ใฝ่เตือนผู้คนทางอ้อม ให้หันกลับมาใส่ใจระบบนิเวศน์ของโลกใบนี้ มากกว่ามุ่งแต่ฉกฉวยโอกาส ที่เน้นหนักไปในด้านทำลาย จนสามารถโน้มน้าวจิตใจคนทั่วโลก ให้เกิดความตระหนักว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่โลกกำลังเผชิญ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการทำลายของเงื้อมมือมนุษย์ทั้งสิ้น
หรืออาจกล่าวได้ว่า ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน คือ ช่วงเวลาที่โลกเอาคืนแล้วหรือไม่ หรือขวบปี 2010 ที่ผ่านมา คือ เสียงเตือนขั้นต้น ที่ให้มวลมนุษยชาติเตรียมหาทางระแวดระวัง ก่อนที่ทุกสิ่งจะสายเกินไป

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี จะพบว่าสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่โลกพยายามสื่อสารกับมวลมนุษยชาติ กระจายความรุนแรงไปทั่วทุกมุมโลก มีเหตุการณ์สร้างความเสียหายมหาศาล ทั้งเรื่องแผ่นดินไหว น้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลากหลายประเทศ ดินโคลนถล่มคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมาก พายุพัดถล่ม หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิดปะทุ เป็นต้น

เริ่มต้นจากในช่วงต้นปี วันที่ 12 ม.ค. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่รุนแรงขนาด 7.0 ริกเตอร์ ที่ประเทศเฮติ ที่สร้างความศูนย์เสียครั้งสำคัญ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 แสนคน ประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายล้านคน หลังจากนั้นถัดมาอีก 1 เดือน ช่วงวันที่ 27 ก.พ. เกิดแผ่นดินไหว ที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นเป็น 8.8 ริกเตอร์ บริเวณนอกชายฝั่งประเทศชิลี ซึ่งกล่าวได้ว่า คือความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ที่ยังผลให้แกนโลกเอียงไปจากตำแหน่งเดิมถึง 3 นิ้ว อันมีผลให้ระยะเวลาสั้นลงไป 1.26 ไมโครวินาที

ในเดือนถัดมา 8 มี.ค. เกิดเหตุฝนตกหนักในประเทศออสเตรเลีย ที่เมืองหลวงนครเมลเบิร์น เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ก่อนตามด้วยปรากฏการณ์ลูกเห็บยักษ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ตกลงมาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมาก โดยในช่วงวันที่ 20 เดือนเดียวกัน ยังเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุในประเทศไอซ์แลนด์ ส่งผลกระทบรบกวนต่อการจราจรทางอากาศทั่วทวีปยุโรป มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายล้านคน ทั้งนี้ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. ยังส่งท้ายด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ ในอ่าวเบงกอลด้วย

หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนเม.ย. พบว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณนอกชายฝั่งของเกาะสุมาตรา มีขนาดความรุนแรง 7.8 ริกเตอร์ ก่อนที่จะเกิดภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งทางตอนใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ เกิดการระเบิดปะทุขึ้นฟ้าสูงถึง 8 กิโลเมตร เป็นเหตุให้เกิดฝุ่นขี้เถ้าปกคลุมน่านฟ้าสูงกว่า 6,000 เมตร ในอีกอาทิตย์ต่อมา ส่งผลกระทบโดยตรงกับการสัญจรทางอากาศ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลาเดียวกันพบว่า ในประเทศจีน ก็ได้เกิดแผ่นดินไหว มีความรุนแรงกว่า 7.1 ริกเตอร์ ปรากฏมีผู้เสียชีวิต 2,220 ราย สูญหาย 70 ราย และบาดเจ็บนับหมื่นราย ในเขตปกครองตนเองยูซู มณฑลชิงไห่ ข้ามเดือนมาในกลางเดือนพ.ค. ภัยพิบัติยังคงปกคลุมโลกอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุทอร์นาโด และพายุลูกเห็บ ที่เมืองซุ่ยหัว ในประเทศจีน ก่อให้เกิดความสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตหลายราย

กระทั่งย่างเข้ากลางปี 2553 หรือ ค.ศ.2010 ในเดือนมิ.ย. พบมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ นอกหมู่เกาะอันดามันประเทศอินเดีย ห่างกันไม่กี่วัน ได้เกิดพายุทอนาร์โดถาโถมเข้าใส่ตะวันตกของอเมริกา กระทั่งเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในประเทศรัสเซีย และประเทศเอกวาดอร์ ต่อมาในวันที่ 9 มิ.ย. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อน 1 วันต่อมาจะมีน้ำท่วมเฉียบพลันที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันที่ 13 มิ.ย. เกิดพายุฝน และดินโคลนถล่มทางตอนใต้ของจีน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต มีความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 43,000 ล้านหยวน ผู้อพยพขึ้นหลัก 3 ล้านคน ก่อนที่อีก 5 วันต่อมา จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เฉียบพลัน ดินโคลนถล่มต่อเนื่อง ในพื้นที่ 74 เมือง 6 มณฑล ของจีน โดยมีประชาชนชาวจีนจำนวนมากหลักล้านคนได้รับความเสียหาย โดยในประเทศจีนยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย กลับปรากฏว่าในช่วงวันที่ 14 ก.ค. ยังเกิดน้ำท่วม และดินถล่มเพิ่มเติม ทางตอนใต้ของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 400 คน

แม้แต่ในประเทศรัสเซีย ยังเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เกิดไฟป่าในประเทศหลายร้อยแห่ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในเกิดความร้อนสูงขึ้น ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ก่อนที่โลกจะเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ตามมา ในช่วงเดือน ส.ค. พายุฤดูร้อนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในประเทศปากีสถาน บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนเลยทีเดียว

ทั้งนี้ในประเทศจีน ยังกลับมาพบภัยพิบัติเข้าเล่นงานอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 8 ส.ค. หลังจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน และแผ่นดินถล่ม ทางตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างความสูญเสียกว่า 1,500 ราย ก่อนปรากฏการณ์ภัยพิบัติ จะข้ามฟากไปเล่นงานในภูมิภาคอเมริกาใต้ ในประเทศโบลิเวีย โดยเกิดเหตุการณ์ไฟป่าลุกลามไปกว่า 25,000 จุดทั่วประเทศ จนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยยังพบอีกว่า ยังมีโคลนถล่มเพิ่มเติม ในประเทศกัวเตมาลา ทำให้เกิดความสูญเสียอีกกว่า 100 ชีวิต

สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์ภัยพิบัติ เริ่มตึงเครียดตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝน ช่วงเดือนต.ค.เป็นต้นมา ทั้งนี้แม้จากรายงานจะพบว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. จะมีรายงานน้ำท่วมบางพื้นที่เป็นระยะ แต่ยังไม่หนักหนาเท่าที่ควร กระทั่งเริ่มต้นเดือนส.ค. ทั่วทุกภาคของประเทศ จะมีฝนตกอย่างหนักต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดนำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ก่อนเข้าสู่ช่วงวันที่ 10 ต.ค. เรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 ต.ค. จะเกิดภัยน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 10 ปี ในหลายพื้นที่ ทั้งทางอีสาน ตะวันออก แม้กระทั่งภาคใต้ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ได้รับความเดือดร้อนนานร่วมเดือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย จนภาครัฐและเอกชนต้องเข้าไปดูแลกันอย่างเต็มความสามารถ

และด้วยความตื่นตัวในปัญหาภัยพิบัติดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งอาจมีทั้งเกิดจากเงื้อมมือมนุษย์ และเกิดจากภัยธรรมชาติ ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นำโดย ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้เล็งเห็นถึงข้อเท็จจริงในการนำเสนอข่าวสารและความรู้ ตลอดจนการนำเสนอให้ประชาชนรับทราบในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติไม่ให้ตื่นตระหนกตกใจ จึงได้ร่วมมือกับทาง มหาวิทยาลัยศรีปทุม มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และเว็บไซต์พลังจิตดอทคอม ร่วมจัดโครงการสัมมนาเชิงวิชาการ “เจาะลึกภัยพิบัติ พลิกวิกฤติให้เป็นทางรอด” ขึ้น โดยจะมี 8 วิทยากร ประกอบด้วย ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น ดร.วัฒนา กันบัว ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล พระอาจารย์รัตน์(รัตน รตนญาโณ) และนายคณานันท์ ทวีโภค หัวหน้าทีมพลังจิตพิชิตภัยพิบัติ ทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้

โดยงานดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค.ระหว่างเวลา 08.30 น.-17.00 น. ที่ห้องบัวหลวงแกรนด์รูม ชั้น 6 อาคาร ดร.สุข พุคยาภรณ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ รับผู้สนใจเข้าฟังสัมนาฟรีจำนวน 1,200 คน ปรากฏว่าข่าวออกไปเพียงวันแรกก็มีผู้สนใจในเรื่องเหตุการณ์วิกฤติของโลกติดต่อเข้าฟังจนเต็มจำนวนในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับผู้ที่พลาดหวังในการเข้าฟังการสัมมนาสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ www.palungjit.com ได้ในวันเวลาดังกล่าว.

ผาณิต นิลนคร/รายงาน

เตือนภัยพิบัติ
"กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"


3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 มีนาคม 2554 เวลา 12:25

    ฟังดูอาจจะน่ากลัว และมองดูว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
    ซึ่งผมมองว่า มันก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์เรา
    ถ้าเราทุกคนช่วยกันทำความดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
    ทั้งมนุษย์และสัตว์ ไม่ทำลายธรรมชาติ หรือโลกของเรา
    ผมก็เชื่อว่าภัยพิบัติต่างๆ ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ หรืออาจจะ
    เกิดขึ้น แต่ก็ไม่รุนแรง เพราะฉะนั้น เราทุกๆ คนต้องช่วยกัน
    ครับ ผมว่ามันยังไม่สายนะครับ เริ่มแต่วันนี้...แต่ถ้าเราไม่ทำ
    ก็คงต้องเผชิญกับภัยพิบัติโลก ที่กำลังจะมาถึงอย่างแน่นอน

    จากผู้จัดทำบล็อก เตือนภัยพิบัติโลก

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ25 ตุลาคม 2554 เวลา 10:00

    เพราะความไม่พอเพียงของมนุษย์ ยึดติดกับความสะดวกสบายจนลืมวิถีชีวิตจากอดีตโดยการพยายามเปลี่ยนโลกให้ได้อย่างที่ต้องการ โดยที่ไม่ได้คิดคำนึงว่ามนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่ที่เปลี่ยนได้คือการกระทำของมนุษย์ โดยเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโลกเพื่อการอยู่รอดของทั้งสองฝ่าย

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยพิบัติ

รายงานแผ่นดินไหวทั่วโลก




รายงานแผ่นดินไหวภายในประเทศและใกล้เคียง